ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกต่างกำลังมุ่งสู่การเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล ซึ่งรวมถึงการบรรจุ Industrial Internet of Things หรือ IIoT ลงไปในแผนเทคโนโลยีแห่งชาติหรือเฟรมเวิร์กของแต่ละประเทศ เพื่อสร้างความก้าวหน้าให้กับเศรษฐกิจและสวัสดิภาพทางสังคม
หลายประเทศที่กำลังมุ่งสู่ IoT ได้มีการพัฒนาศักยภาพของตัวเองในหลาย ๆ ด้านเพื่อสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ ภาพที่ชัดเจนคือประเทศเหล่านั้นมีการเพิ่มการลงทุนในเรื่องของบุคลากร การศึกษา การวิจัย และเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาและนำโซลูชัน IIoT มาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ สิ่งที่เป็นศูนย์รวมของแผนงานแห่งชาติหรือจุดร่วมเดียวกันที่เห็นได้บ่อยคือเรื่องของความริเริ่มด้านความอัจฉริยะ เช่น Smart Factory, Smart City หรือ Smart Grid เหล่านี้ล้วนได้รับการออกแบบมาเพื่อขับเคลื่อนความมีประสิทธิภาพและกระตุ้นการเติบโตให้กับเศรษฐกิจได้อย่างทั่วถึง
สมาคมอินเตอร์เน็ตเพื่ออุตสาหกรรม หรือ IIC (Industrial Internet Consortium) มีความสนใจอย่างยิ่งในการสร้างแอพพลิเคชัน IIoT ที่ช่วยปรับปรุงและสร้างความแข็งแกร่งให้กับส่วนที่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติและประเทศทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพลังงาน การดูแลสุขภาพ เกษตรกรรม การขนส่ง การผลิต และการศึกษา ซึ่งการทำให้เสาหลักด้านเศรษฐกิจเหล่านี้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และให้ผลิตผลที่ดี ก็จะเป็นการช่วยกระตุ้นให้ได้ผลิตภัณฑ์มวลรวมที่ดีขึ้นเช่นกัน สิ่งที่บ่งชี้ให้เห็นถึงความสนใจเรื่องนี้ก็คือ IIC ได้อนุมัติให้มีการจัดตั้ง “ศูนย์ทดสอบ” (Testbeds) แห่งใหม่กว่า 40 แห่งขึ้นในเวลาอันรวดเร็วแค่ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ศูนย์ทดสอบเหล่านี้คือห้องปฏิบัติการที่ใช้ในการทดสอบและพัฒนาแอพพลิเคชัน IIoT อย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลจากศูนย์ทดสอบคาดว่าในปี 2018 จะมี 6 อุตสาหกรรมที่นำ IIoT มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผลิตภัณฑ์ของตนเอง คือ
1. อุตสาหกรรมด้านพลังงาน
การนำ IIoT มาใช้จะเพิ่มความฉลาดของระบบพลังงานและระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการพลังงานจากท่อส่งอัจฉริยะ (Smart Pipelines) ถึงมิเตอร์อัจฉริยะ (Smart Meters) และโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ทุกแง่มุมของการสร้างและส่งต่อพลังงานล้วนถูกทำให้มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น พึ่งพาอาศัยกันได้มากขึ้น และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วย เพื่อตอบสนองความกระหายพลังงานของโลก
IIoT ไม่ได้เป็นแค่ความก้าวหน้าในการผลักดันด้านการกระจายพลังงานและการสื่อสารผ่านโครงข่ายหรือกริด แต่ยังเป็นการปรับปรุงกระบวนการดำเนินการหลัก ๆ ได้แก่ เรื่องของการตรวจสอบสถานะการทำงานได้จากระยะไกล การซ่อมบำรุงที่คาดการณ์ได้ การควบคุมที่ล้ำหน้า ความปลอดภัยรวมถึงการรักษาความปลอดภัย เราเรียกรวมกันว่า พลังงานอัจริยะ หรือ Smart Energy แต่ละองค์ประกอบของสิ่งที่กล่าวมาช่วยเรื่องของอัพไทม์ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่อุปกรณ์หรือระบบต่าง ๆ ทำงานได้อย่างเต็มที่ ในเรื่องของประสิทธิภาพและความปลอดภัยของสินทรัพย์ด้านพลังงาน ผ่านการใช้ซอฟต์แวร์ เซนเซอร์ การเชื่อมต่อ และการวิเคราะห์ข้อมูล
2. ระบบการดูแลสุขภาพที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นผ่าน IIoT
จากการที่อายุคาดเฉลี่ยของคนทั่วไปเพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพโดยเฉลี่ยสูงกว่า 10% ของ GDP ในระดับชาติของทั่วโลก ได้สร้างความกดดันให้กับรัฐบาลในการหาวิธีลดค่าใช้จ่ายด้านการดูแลรักษาสุขภาพในขณะที่ต้องปรับปรุงและขยายการดูแลสุขภาพประชากรให้ได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจังต่อเนื่อง IIoT จึงเป็นหัวใจหลักในการปรับปรุงการนำเสนอบริการสำคัญด้านการดูแลสุขภาพผ่านการเชื่อมต่อและการแบ่งปันข้อมูล ซึ่งเป็นเหตุผลของการสร้างศูนย์ทดลอง Connected Care ของ IIC
สมาชิกของศูนย์ดังกล่าวต่างมุ่งเน้นในการสร้างระบบนิเวศด้านการดูแลสุขภาพผ่าน IIoT ในระบบเปิดไว้สำหรับสอดส่องดูแลผู้ป่วยที่อยู่ที่บ้านหรือที่อยู่ระยะไกล เพื่อให้ทางเลือกแก่ผู้ป่วยที่ต้องการพักอยู่ที่บ้าน โดยมีระบบบริหารจัดการจากระยะไกลที่มีระบบรักษาความปลอดภัยอย่างดีไว้สำหรับคอยติดตามดูอาการของผู้ป่วยเรื้อรัง สิ่งนี้มอบศักยภาพในการสร้างโซลูชันในราคาเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยและครอบครัว อีกทั้งยังช่วยให้ผู้ดูแลมีโอกาสดูแลผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพแม้จะอยู่นอกออฟฟิศก็ตาม
3. เกษตรกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล
จากการคาดการณ์ของสหประชาชาติ จำนวนประชากร 7,400 ล้านคนในปัจจุบันจะเพิ่มขึ้นเป็น 11,000 ล้านคนภายในปี 2020 ซึ่งความสำเร็จในการทำเกษตรกรรมให้ได้ผลิตผลมากยิ่งขึ้น คืนสภาพได้ดี และมีความยั่งยืนนับเป็นสิ่งสำคัญที่สุดต่อการดำรงชีพ และ IIoT ก็เข้ามาอยู่แถวหน้าของความคิดในเรื่องนี้
ในศูนย์ทดสอบด้านการจัดการผลผลิตได้อย่างแม่นยำ (Precision Crop Management) ของสมาคมอินเตอร์เน็ตเพื่ออุตสาหกรรม หรือ IIC ผู้จำหน่ายได้ร่วมมือกันพัฒนาแนวทางที่ดียิ่งขึ้นในการสร้างผลผลิตเพิ่มขึ้น พร้อมกับการลดต้นทุนเพื่อพยายามแก้ปัญหาความยากไร้ของโลก แนวทางดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการบูรณาการด้านภาพถ่ายทางอากาศและเทคโนโลยีเซนเซอร์ที่หลากหลาย เพื่อให้มีมุมมองเกี่ยวกับพืชผลในแบบ 360 องศา ได้ใกล้เคียงกับเวลาที่เกิดขึ้นจริง รวมถึงการส่งผ่านข้อมูลตลอดเวลาแบบ 24/7 ผ่านเครือข่ายเซลลูลาร์และเครือข่ายเมช พร้อมให้ความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อตรวจจับความผิดปกติของพืชผลได้ก่อน เพื่อจะได้ดำเนินการแก้ไขได้ทันท่วงที
4. การลดความสูญเสียในการขนส่งด้วยเทคโนโลยี
ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนย้ายสินค้าหรือผู้คน การขนส่งนับเป็นศูนย์กลางที่ช่วยให้เศรษฐกิจหรือสังคมดำเนินไปอย่างราบรื่น และมีผลกระทบแผ่ขยายไปถึงเรื่องผลิตผล สุขภาพ และสภาพภูมิอากาศ ผู้ที่เข้าถึง IIoT ได้ก่อนนั้นมองว่า IIoT สามารถช่วยในเรื่องต่อไปนี้ได้
• สร้างระบบขนส่งที่สามารถรับรู้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและดำเนินการตอบสนองได้อย่างรวดเร็วในแบบเรียลไทม์
• เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและความปลอดภัยของสาธารณะ ลดช่วงเวลาดาวน์ไทม์ และดูแลเรื่องของการบำรุงรักษาระบบหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ในเชิงป้องกันก่อนที่จะเกิดความขัดข้องกับชิ้นส่วนเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ด้วยการวิเคราะห์และดำเนินการแก้ไขตามข้อมูลที่ได้จากตรวจสอบเซนเซอร์และเครื่องจักรที่อยู่แวดล้อม (ในเรื่องอุณหภูมิ ความชื้น ความกดอากาศ ฯลฯ)
• ระบุเส้นทางได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมกับการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานจากการวิเคราะห์ความสามารถ
5. ภาคการผลิตและระบบซัพพลายเชนกับการดำเนินงานที่ชาญฉลาดมากขึ้น
จุดที่ให้ประโยชน์อย่างเห็นได้ชัดสำหรับการนำนวัตกรรมด้าน Internet of Things สำหรับภาคอุตสาหกรรมมาใช้ ก็คือในภาคการผลิตซึ่งปัจจุบันพัฒนาไปสู่โรงงานอัจฉริยะแห่งอนาคต (Smart Factory) IIoT ให้ความสามารถในการปรับปรุงประสิทธิภาพและผลลัพธ์ได้อย่างมากมายมหาศาล ทั้งในเรื่องของกระบวนการผลิตไปตลอดทั่วทั้งซัพพลายเชนด้วย IIoT
กระบวนการผลิตจะควบคุมการทำงานได้ด้วยตัวเองจากเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่มีความชาญฉลาด สามารถดำเนินการแก้ไขเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดเหตุขัดข้องแบบที่ไม่ได้คาดการณ์ล่วงหน้า โดยจะมีการเปลี่ยนชิ้นส่วนต่าง ๆ ได้เองโดยอัตโนมัติจากการนำข้อมูลเรียลไทม์มาใช้ และอุปกรณ์ดิจิทัลแบบพกพาทุกชิ้นในโรงงานจะต้องรายงานสถานะของอุปกรณ์ทุกชิ้นที่ซ่อมอยู่ และสามารถใช้มือถือของเจ้าหน้าที่เข้าถึงข้อมูลการดำเนินงานได้แบบเรียลไทม์ โดยตัวเซนเซอร์ของอุปกรณ์สวมใส่จะติดตามตำแหน่งของพนักงานในโรงงานแต่ละคนได้ ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น และที่กล่าวมาก็เป็นประโยชน์เพียงแค่บางส่วนเท่านั้น
6. ห้องเรียนที่เชื่อมต่อกันได้ทั่วโลก และการเปลี่ยนโฉมหน้าของการศึกษา
บทบาทในเชิงกลยุทธ์ของการศึกษาในการนำโซลูชัน IIoT มาช่วยให้บรรลุผลเป็นสิ่งที่ถ้าไม่พูดถึงคงจะไม่ได้ ทั้งนี้สิ่งที่นักเรียนได้เรียนรู้ล้วนเป็นผลกระทบจาก IIoT เนื่องจากห้องเรียนต่าง ๆ มีการเชื่อมต่อออนไลน์มากขึ้น และมีอุปกรณ์เชื่อมต่อมากขึ้นเช่นกัน เหล่านี้ช่วยให้นักเรียนเข้าถึงเนื้อหาได้ใกล้เคียงความจริงมากยิ่งขึ้น ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ในหนังสือเรียน นอกจาก IIoT จะช่วยเปลี่ยนโฉมหน้าการศึกษาแล้ว การศึกษายังมีบทบาทสำคัญในการนำเสนอ IIoT ด้วยเช่นกัน
ประเทศต่าง ๆ จะต้องขยายการลงทุนในเรื่องของ STEM Education (ซึ่งเป็นแนวทางการศึกษาที่บูรณาการความรู้ระหว่างศาสตร์วิชาแขนงต่าง ๆ อันประกอบไปด้วย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์) เพื่อผลักดันนวัตกรรม IIoT ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ ปัจจุบัน การพึ่งพาอาศัย IIoT นี้เห็นได้ชัดในประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะยังมีตำแหน่งงานว่างในภาคการผลิต แม้จะมีการจ่ายค่าจ้างสูงก็ตาม เนื่องจากขาดแรงงานที่มีคุณสมบัติ
สำหรับประเทศไทยนั้น IoT เป็นเรื่องใหม่ที่ทุกภาคส่วนกำลังให้ความสำคัญ โดยในส่วนของภาครัฐนั้น สํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ริเริ่มโครงการ Phuket Smart City Innovation Park เพื่อพัฒนาภูเก็ตให้เป็นเมืองต้นแบบในการก้าวสู่ Smart City ซึ่งงานที่สำคัญอย่างหนึ่งของ สํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล คือ การจัดตั้งศูนย์ IoT Lab เพื่อเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาเทคโนโลยี IoT ของประเทศ
loT Lab จะเป็นศูนย์กลางให้นักเรียน นักศึกษา รวมถึงผู้ประกอบการที่สนใจได้เข้ามาเรียนรู้และทดสอบการใช้งานของเทคโนโลยี IoT รวมถึงการจัดอบรมให้ความรู้ในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ระดับเริ่มต้น กลางไปจนถึงระดับสูงสุด ภายใต้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และกลุ่มเมคเกอร์คลับในจังหวัดภูเก็ต IoT Lab จึงเป็นหนึ่งในโครงการที่สำคัญของสํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ Digital Economy ตามแผนงานของรัฐบาลที่จะผลักดันประเทศไทยก้าวสู่ Thailand 4.0
ที่มา : กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม